ผู้ก่อตั้ง

“บ้านฝิ่น” เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนเล็ก ๆ ก่อตั้งโดยคุณ พัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเป็นชาวเชียงแสนโดยกำเนิด หลังจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำเนินชีวิตในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่สักพัก ก็ได้ตัดสินใจกลับมาเปิดร้านขายของเก่าและเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2530

     ในช่วงเวลานั้นเองที่คุณพัชรีได้เกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้เริ่มสะสมศิลปวัตถุ และได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการค้าขายฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำโบราณ ผ่านการอ่านตำราทุกเล่มที่มีการอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับฝิ่น การค้นคว้าจากสำนักงานปปส. ห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และการใช้ชีวิตคลุกคลีกับชนเผ่าต่างๆ ทั้งชาวเขา ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ชาวพม่า และชาวลาวที่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในหมูบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง คุณพัชรี ตระหนักว่าโบราณวัตถุในพื้นที่เหล่านี้มีคุณค่ามาก ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางศิลปะวัฒนธรรม หากไม่ทำการเก็บรักษาไว้อาจถูกนักสะสมชาวต่างชาติซื้อไปหมด ในปี พ.ศ. 2532 คุณพัชรีจึงได้เปิดพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นขึ้น เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น และบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำ โดยได้รับความช่วยเหลือทางข้อมูลและการแปลภาษาอังกฤษจากเพื่อนนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลชาวไทยแคนาดา และเพื่อนที่เรียนครุศาสตร์มาด้วยกัน ส่วนชื่อ “บ้านฝิ่น” เป็นชื่อที่ตั้งให้โดยคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ

     พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นในยุคเริ่มแรกจัดแสดงอย่างง่ายๆ ในอาคารไม้ไผ่มุงคา มีเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับฝิ่นจัดแสดงอยู่ระมาณ 300 ชิ้น การจัดแสดงมีนักเรียนอาชีวะจาก จ. อุดรธานีมาช่วยทำ ทั้งตู้ ระบบไฟ หุ่นปั้น และช่วยเขียนคำบรรยาย ค่าเข้าชมเริ่มแรกเก็บคนละ 5 บาท และยังแจกหยกเม็ดเล็กๆ ให้อีกคนละ 1 เม็ด

     ในช่วงเวลาต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2535 คุณพัชรี ได้ทำการบูรณะตัวอาคารและการจัดแสดง โดยได้รับความช่วยเหลือจากศิลปินเชียงราย คุณปรีชา ราชวงศ์ และ คุณณรงค์เดช สุดใจ เป็นผู้วาดภาพบอกเล่าตำนาน และความสัมพันธุ์ของฝิ่นกับชาวเขาเผ่าต่างๆ และได้ขึ้นค่าเข้าชมเป็นท่านละ 10 บาท และ 20 บาทในปีพ.ศ. 2540

     ในปี พ.ศ. 2550 คุณพัชรีได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้านสามเหลี่ยมทองคำและทำการบูรณะตัวอาคารอีกครั้ง และได้นำของเก่าที่ได้เก็บสะสมมาในช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่เปิดพิพิธภัณฑ์มาเพิ่มเติมกว่า 1,500 ชิ้น และได้ขึ้นค่าเข้าชมเป็นท่านละ 50 บาท

     ในปี 2562 พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นได้เปิดกิจการมาแล้วเป็นระยะเวลา 30 ปี มีการจัดแสดงศิลปะวัตถุเพิ่มเติมรวมกว่า 2,000 ชิ้น มีการจัดโซนเพิ่ม ทั้งห้องทุ่งดอกฝิ่นจำลอง หุ่นชาวเขา 6 เผ่า อุปกรณ์การสูบกัญชายาเส้น และทำการปรับปรุงปรับเปลี่ยนการนำเสนอให้ง่ายต่อการเข้าถึงมากขึ้น แต่ยังคงแนวคิดพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก ค่าเข้าชมไม่แพง (50 บาท) แต่ให้ความรู้เกี่ยวกับฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำอย่างครบถ้วนผ่านวัตถุโบราณอันทรงคุณค่า

Timeline

พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น

2565

เปิดกิจการมาแล้วเป็นระยะเลา 35 ปี มีการจัดแสดงศิลปะวัตถุเพิ่มเติมรวมกว่า 2,000 ชิ้น มีการจัดโซนเพิ่ม ทั้งห้องทุ่งดอกฝิ่นจำลอง หุ่นชาวเขา 6 เผ่า อุปกรณ์การสูบกัญชายาเส้น และทำการปรับเปลี่ยนการนำเสนอให้ง่ายต่อการเข้าถึงมากขึ้น แต่ยังคงแนวคิดพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก

ค่าเข้าชมคนละ 50 บาท

ใครอยู่ในบ้านฝิ่น?

“บ้านฝิ่น” เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดเล็กที่บริหารงานโดย คุณพัชรี ศรีมัธยกุล ซึ่งเป็นชาวเชียงแสนโดยกำเนิด คุณพัชรีมีความตั้งใจว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จะต้องเป็นประโยชน์แก่ชุมชนด้วย พนักงานในบ้านฝิ่นทั้งหมดจึงเป็นคนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทั้งชาวไทย ชาวไทยใหญ่ (จากรัฐฉาน) ชาวไทยลื้อ (จากมณฑลยูนนาน) และชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น อาข่า ม้ง ฯลฯ คุณพัชรี และทีมงาน ยังร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อตอบแทนคืนสู่สังคม อาทิ กิจกรรมพัฒนาชุมชน กิจกรรมเพื่อการเผยแพร่องค์ความรู้ กิจกรรมช่วยเหลือเด็กชาวเขากำพร้าและยากจน ซึ่งได้ร่วมทำกับสถานศึกษา องค์กรของรัฐ องค์กรไม่แสดงหาผลกำไร มูลนิธิต่างๆ ทั้งในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเองและต่างพื้นที่

คำถามที่ถามกันบ่อยๆ

บ้านฝิ่นจัดแสดงศิลปะวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายฝิ่นในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำกว่า 2,000 ชิ้น หลายชิ้นมีอายุกว่า 200 ปี ซึ่งได้เก็บสะสมมาจากหลายพื้นที่ ทั้งจากในประเทศไทยเอง และประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว พม่า จีน และเวียดนาม

พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นตั้งอยู่ที่
212 หมู่ 1 ต. เวียง อ. เชียงแสน จ. เชียงราย 57150

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นวัดพระธาตุภูเข้า ตรงข้ามกับท่าเรือสามเหลี่ยมทองคำ

ท่านละ 50 บาท ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เด็กเข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

เปิดตั้งแต่ 07.00 น. – 19.00 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุด

ในอำเภอเชียงแสนมีพิพิธภัณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น 2 แห่ง คือ “บ้านฝิ่น” (House of Opium) และ “หอฝิ่น” (Hall of Opium)